ดนตรีไทย

Music'Thai

ความเป็นมาของดนตรีไทย

                        จากการสันนิษฐานของท่านผู้รู้ทางด้าน ดนตรีไทย โดยการพิจารณา หาเหตุผลเกี่ยวกับกำเนิด หรือที่มาของ ดนตรีไทย ก็ได้มีผู้เสนอแนวทัศนะในเรื่องนี้ไว้ 2 ทัศนที่แตกต่างกันคือ ทัศนะที่ 1 สันนิษฐานว่า ดนตรีไทย ได้แบบอย่างมาจากอินเดีย เนื่องจาก อินเดียเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อารยธรรมต่าง ๆ ของอินเดียได้เข้ามามีอิทธิพล ต่อประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียอย่างมาก ทั้งในด้าน ศาสนา ประเพณีความเชื่อ ตลอดจน ศิลป แขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านดนตรี ปรากฏรูปร่างลักษณะ เครื่องดนตรี ของประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย เช่น จีน เขมร พม่า อินโดนิเซีย และ มาเลเซีย มีลักษณะ คล้ายคลึงกัน เป็นส่วนมาก ทั้งนี้เนื่องมาจาก ประเทศเหล่านั้นต่างก็ยึดแบบฉบับ ดนตรี ของอินเดีย เป็นบรรทัดฐาน รวมทั้งไทยเราด้วย เหตุผลสำคัญที่ท่านผู้รู้ได้เสนอทัศนะนี้ก็คือ ลักษณะของ เครื่องดนตรีไทย สามารถจำแนกเป็น 4 ประเภท คือ

 – เครื่องดีด
 – เครื่องสี
 – เครื่องตี
 – เครื่องเป่า
 ใกล้เคียงกับลักษณะ เครื่องดนตรี อินเดียตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ “สังคีตรัตนากร” ของอินเดีย ซึ่งจำแนกเป็น 4 ประเภท เช่นกันคือ
 – ตะตะ คือ เครื่องดนตรี ประเภทมีสาย
 – สุษิระ คือ เครื่องเป่า
 – อะวะนัทธะ หรือ อาตตะ คือ เครื่องหุ้มหนัง หรือ กลอง ต่าง ๆ
 – ฆะนะ คือ เครื่องตี หรือ เครื่องกระทบ
                   การสันนิษฐานเกี่ยวกับ กำเนิดหรือที่มาของ ดนตรีไทย ตามแนวทัศนะข้อนี้ เป็นทัศนะที่มีมาแต่เดิม นับตั้งแต่ ได้มีผู้สนใจ และ ได้ทำการค้นคว้าหาหลักฐาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น และนับว่า เป็นทัศนะที่ได้รับการนำมากล่าวอ้างกันมาก บุคคลสำคัญที่เป็นผู้เสนอแนะแนวทางนี้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวงการประวัติศาสตร์ของไทย
วงดนตรีไทย  
                                    ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการบรรเลง   มีความเป็นระเบียบแบบแผน   มีมาตรฐานถูกต้องตามหลักการประสมวง   มีการพัฒนารูปแบบการบรรเลงเป็นระยะ   ซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท  คือ
๑. วงปี่พาทย์
                      วงปี่พาทย์   หมายถึง   วงดนตรีที่เกิดจากการประสมวงกันระหว่างเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าและเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีเป็นหลัก   แบ่งออกเป็น ๓ ขนาด ดังนี้วงปี่พาทย์เครื่องห้า

๑.) วงปี่พาทย์เครื่องห้า  วงดนตรีประเภทนี้มีการประสมวงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี    ประกอบด้วย   ปี่ใน   ระนาดเอก   ฆ้องวงใหญ่   ตะโพน   กลองทัด   และฉิ่ง

วงปี่พาทย์เครื่องคู่

๒.) วงปี่พาทย์เครื่องคู่  วงดนตรีประเภทนี้เกิดการประสมวงครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย   ปี่ใน   ปี่นอก   ระนาดเอก   ระนาดทุ้ม   ฆ้องวงใหญ่   ฆ้องวงเล็ก   ตะโพน   กลองทัด   ฉิ่ง   ฉาบเล็ก   ฉาบใหญ่   กรับ   และโหม่ง

วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

๓.) วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่   วงดนตรีประเภทนี้เกิดการประสมวงครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย   ปี่ใน   ปี่นอก   ระนาดเอก   ระนาดทุ้ม   ระนาดเอกเหล็ก  ระนาดทุ้มเหล็ก   ฆ้องวงใหญ่   ฆ้องวงเล็ก   ตะโพน   กลองทัด   ฉิ่ง   ฉาบเล็ก   ฉาบใหญ่   กรับ   และโหม่ง

๒. วงเครื่องสายไทย

วงเครื่องสายไทยเป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทที่มีสายเป็นหลัก   ส่วนเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆที่ประสมในวงเครื่องสาย   นิยมใช้เครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงที่มีความกลมกลืนสอดคล้องกับเครื่องดนตรีอื่นๆในวง   แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด    ดังนี้

วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว

๑.) วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยวหรือวงเครื่องสายวงเล็ก   เครื่องดนตรีประกอบด้วยซอด้วง ๑ คัน   ซออู้ ๑ คัน   จะเข้ ๑ ตัว   ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา   โทน-รำมะนา ๑ สำรับ   ฉิ่ง ๑ คู่  และฉาบเล็ก ๑ คู่

วงเครื่องสายเครื่องคู่

๒.) วงเครื่องสายเครื่องคู่   เครื่องดนตรีประกอบด้วย ซอด้วง ๒ คัน   ซออู้ ๒ คัน   จะเข้ ๒ ตัว   ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา   ขลุ่ยหลีบ ๑ เลา   โทน-รำมะนา ๑ สำรับ   ฉิ่ง ๑ คู่   ฉาบเล็ก ๑ คู่   กรับ ๑ คู่   และโหม่ง ๑ ใบ

๓.  วงมโหรี

วงมโหรีเป็นวงที่มีเครื่องดนตรีประสมวงครบทุกกลุ่ม   คือ   เครื่องดีด   สี   ตี   และเป่า   ลักษณะเด่นของวง   ดนตรีประเภทนี้ คือ ความกลมกลืนของระบบเสียงที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่ถูกย่อสัดส่วน   สำหรับฆ้องวงที่ประสมในวงดนตรีประเภทนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าฆ้องมโหรี   การปรับลดขนาดเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีเพราะต้องการให้ระบบเสียงมีความดังที่เข้ากันได้กับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย   วงมโหรีมีการประสมวงและถือเป็นแบบแผนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจำแนกออกเป็น ๓ ขนาด  ดังนี้

วงมโหรีเครื่องเดี่ยว

๑.) วงมโหรีเครื่องเดี่ยว   เครื่องดนตรีประกอบด้วย ซอสามสาย ๑ คัน   ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา   ระนาดเอก ๑ รางฆ้องวงใหญ่ ๑ วง   จะเข้ ๑ ตัว   ซอด้วง ๑ คัน   ซออู้ ๑ คัน   โทน-รำมะนา ๑ สำรับ   ฉิ่ง ๑ คู่

วงมโหรีเครื่องคู่

 

๒.) วงมโหรีเครื่องคู่   เครื่องดนตรีประกอบด้วยซอสามสาย ๑ คัน   ซอสามสายหลีบ ๑ คัน   ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา   ขลุ่ยหลีบ ๑ เลา   ระนาดเอก ๑ ราง   ระนาดทุ้ม ๑ ราง   ฆ้องวงใหญ่ ๑ วง   ฆ้องวงเล็ก ๑ วง   จะเข้ ๒ ตัว   ซอด้วง ๒ คัน   ซออู้ ๒ คัน   โทน-รำมะนา๑สำรับ  ฉิ่ง๑คู่  ฉาบเล็ก๑คู่  กรับ๑คู่  โหม่ง๑ใบ

วงมโหรีเครื่องใหญ

๓.) วงมโหรีเครื่องใหญ่   เครื่องดนตรีประกอบด้วยซอสามสาย ๑ คัน   ซอสามสายหลีบ ๑ คัน   ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา   ขลุ่ยหลีบ ๑ เลา   ระนาดเอกมโหรี ๑ ราง   ระนาดทุ้มมโหรี ๑ ราง   ระนาดเอกเหล็กมโหรี ๑ ราง   ระนาดทุ้มเหล็กมโหรี ๑ ราง   ฆ้องวงใหญ่ ๑ วง   ฆ้องวงเล็ก ๑ วง   จะเข้ ๒ ตัว   ซอด้วง ๒ คัน   ซออู้ ๒ คัน   โทน-รำมะนา ๑ สำรับ   ฉิ่ง ๑ คู่   ฉาบเล็ก ๑ คู่   กรับ ๑ คู่   โหม่ง ๑ ใบ

ใส่ความเห็น